บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย รายงานผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2567 รายได้รวม 694.8 ล้านบาท ลดลง 17.0% กำไรสุทธิไตรมาส 2 ที่ 6.6 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ซึ่งมีขาดทุนสุทธิ 31.2 ล้านบาท จากการเร่งตัดหนี้สูญกลุ่มลูกหนี้เปราะบางสูงถึง 413.4 ล้านบาท ยอดขายรถจักรยานยนต์ครึ่งปีแรก 904,143 คัน ลดลง 9.9% ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ติดเพดานตามประกาศฯ ของ สคบ. เผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปรับขึ้นสู่ 91.3% ต่อ GDP หนี้เสียในหลายภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น TK จึงยังคงเดินหน้านโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลพอร์ตลูกหนี้รวมครึ่งปีแรกรวม 2,702.5 ล้านบาท ลดลง 26.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 เทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา รายได้รวมขยับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% ระยะสั้นจะยังระมัดระวังในการขยายตลาด ถือเงินสดและเงินฝาก 2,690.5 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจเมื่อเห็นโอกาส ระยะกลางและระยะยาวเร่งเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่และธุรกิจสินเชื่อในต่างประเทศ
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2567 พร้อมรายงานผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยครึ่งแรกของปี 2567 TK มีรายได้รวม 694.8 ล้านบาท ลดลง 17.0% จาก 836.9 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิรวม 24.6 ล้านบาท ลดลง 137.6% จากกำไร 65.4 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนช่วงเวลาเดียวกัน มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 2,702.5 ล้านบาท ลดลง 26.1% จาก 3,658.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยในไตรมาส 2 ปี 2567 กำไรสุทธิ 6.6 ล้านบาท ลดลง 71.7% จาก 23.3 ล้านบาท รายได้รวม 350.3 ล้านบาท ลดลง 17.0% จาก 421.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
รายได้เช่าซื้อไตรมาส 2 ปี 2567 มีมูลค่า 191.8 ล้านบาท ลดลง 37.5% จาก 306.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง 8.6% จาก 491,628 คัน เหลือ 449,347 คัน ในขณะที่ยอดขายครึ่งปีแรกลดลง 9.9% เหลือ 904,143 คัน ทั้งนี้ ผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2567 ข้างต้นเป็นผลมาจากการเร่งตัดหนี้สูญในกลุ่มลูกหนี้เปราะบางที่มากถึง 413.4 ล้านบาท รวมทั้งจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เช่าซื้อที่ติดเพดานดอกเบี้ยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ได้ออกประกาศเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจทั้งอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2567 ภาพรวมเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น รายได้รวม 350.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จาก 344.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.6 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ 31.2 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 342.0 ล้านบาท ลดลง 8.7% จาก 374.4 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการบริหารรวม 196.2 ล้านบาท ลดลง 3% จาก 202.4 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 8.5 ล้านบาท ลดลง 12.4% จาก 9.7 ล้านบาท ทั้งนี้ TK ยังจะดำเนินงานตามกลยุทธ์ธุรกิจระยะสั้นด้วยนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ควบคู่กับการถือเงินสดและเงินฝาก 2,690.5 ล้านบาท ที่พร้อมใช้ในการขยายธุรกิจและขยายตลาดเช่าซื้อในจังหวะที่เหมาะสม สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจระยะกลางและระยะยาวคือ เพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ รวมทั้งการขยายธุรกิจสินเชื่อในต่างประเทศ นางสาวปฐมากล่าว
นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 91.3% ต่อ GDP นอกจากนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (NPLs) โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ และยานยนต์ ยังคงปรับเพิ่มขึ้น ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และภาระหนี้ของครัวเรือนที่สูงแต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ TK ยังคงต้องระมัดระวังในนโยบายการขยายธุรกิจ รวมถึงต้องเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้จำนวนพอร์ตลูกหนี้และรายได้จากธุรกิจเช่าซื้อลดลง
TK มีเป้าหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยภายนอกที่บริษัทฯ ไม่สามารถควบคุมได้ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจที่ตอบโจทย์แต่ละสถานการณ์เป็นแนวทางที่บริษัทฯ เลือกใช้บริหารกิจการเพื่อดูแลธุรกิจหลัก ในขณะเดียวกัน TK ใช้กลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ นอกเหนือจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ทั้งจากสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมถึงบริการรถเช่า TK ME ปัจจุบันธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ของ TK เป็น 59.7% ของรายได้ โดยเป็นพอร์ตสินเชื่อในประเทศ 58.4% และต่างประเทศ 41.6% จากการดำเนินธุรกิจในกัมพูชา และ สปป. ลาว ขณะที่รายได้จากธุรกิจใหม่นอกจากธุรกิจเช่าซื้อ มีสัดส่วน 8.6% ของรายได้หรือ 59.9 ล้านบาท ทั้งนี้ TK มีแผนขยายตลาดของธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้จากส่วนดังกล่าวในระยะกลางและระยะยาว
อนึ่ง ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 TK มีสำรองลูกหนี้จำนวน 250.7 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 5.8% และมี Coverage Ratio ที่ 146.0% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2566 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 367.8 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 8.0% และมี Coverage Ratio ที่ 113.6% ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 6,160.5 ล้านบาท ลดลง 3.8% จาก 6,404.7 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 656.3 ล้านบาท ลดลง 19.6% จาก 815.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ สิ้นปี 2566 ทั้งนี้ D/E ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 0.12 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่ 0.15 เท่า
COMMENTS