บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เดินหน้าบรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นความร่วมมือการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่อนาคตผ่านกลยุทธ์สำคัญ ด้วยการพัฒนาด้านนวัตกรรม การร่วมมือกันของทุกฝ่าย และการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศไทย ผ่านความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการขยะและแปลงกลับมาใช้ใหม่เป็นพลังงาน และการปลูดป่าทดแทน สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของเชลล์ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยมุ่งมั่นสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่ออนาคต และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย เป้าหมายหลักของเราคือการส่งมอบพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการที่คำนึงถึงความยั่งยืนและการดูแลสิ่งแวดล้อม นโยบายการดำเนินธุรกิจของเชลล์ คือ การส่งเสริมการใช้พลังงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและร่วมดูแลสังคม อย่างไรก็ดี ในการเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดี เรามุ่งดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเน้นการอยู่ร่วมกันของผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจนี้สอดคล้องกับการมุ่งเป้าลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร้อยละ 40 และ เพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 35[1] ของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตของประเทศบนรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม””
นอกจากนั้น จากรายงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังพบว่าปริมาณของเสียอันตราย 6.187 ตัน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 35[2] เพราะระบบคัดแยก เก็บ รวบรวมและขนส่งไม่ครอบคลุมพื้นที่ เชลล์มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อช่วยดูแลและแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปี 2561 เชลล์ ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งในและนอกองค์กรในเรื่องการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องใน 3 ส่วนหลัก ดังต่อไปนี้
การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ: เชลล์เล็งเห็นว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนานวัตกรรมด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยให้เครื่องยนต์สะอาดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนั้นเชลล์ยังสนับสนุนเยาวชนในการปรับใช้แนวคิดพลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมผ่านการแข่งขันเชลล์ อีโค มาราธอน ที่ส่งเสริมให้เยาวชนสร้างสรรค์รถต้นแบบเพื่อประหยัดพลังงาน และรวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่เริ่มต้นจากภายในองค์กร ตั้งแต่การเปลี่ยนหลอดไฟภายในอาคารทั้งหมดเป็นหลอดแอลอีดีที่ประหยัดพลังงาน จัดการปรับเปลี่ยนเวลาปฏิบัติการระบบหล่อเย็นให้มีความเหมาะสม และจะทำการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาและบริเวณที่จอดรถเพื่อช่วยประหยัดพลังงานและเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง
การจัดการขยะและแปลงกลับมาใช้ใหม่เป็นพลังงาน: เชลล์ มีการพัฒนาและสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนหลากหลายรูปแบบทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมการกลั่นขยะให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เทคโนโลยี IH2 ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด เชลล์ ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนในพื้นที่นำร่องเขตคลองเตย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณขยะพลาสติกลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 นอกจากนั้น ยังกำหนดให้สถานีบริการน้ำมันเชลล์ในเขตกรุงเทพฯ กว่า 106 สถานี เป็นจุดคัดแยกขยะและส่งต่อขยะอันตรายเพื่อกำจัดอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทิ้งขยะให้ถูกต้อง และดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
การปลูดป่าทดแทน: เป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญที่จะช่วยให้การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเชลล์มีปณิธานในการปลูกป่าทดแทนนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มอากาศสะอาด สำหรับเชลล์ ประเทศไทยได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ เข้าร่วมโครงการ “Our Khung BangKachao” เพื่อร่วมกันปกป้องชุมชนคุ้งบางกะเจ้าจากภาวะเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการปลูกพืชเศรษฐกิจ มุ่งเป้าเติบโตพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 20% ภายใน 5 ปี[3] พร้อมกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเพื่อให้พื้นที่ป่าไม้เหล่านี้อยู่ร่วมกับคนไทยต่อไปอย่างยั่งยืน
[1] วิกฤติป่าไม้ไทย
ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ, มีนาคม 2561, นิตยสาร BLT
[2] รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม,
กรกฎาคม 2561, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
COMMENTS